Site icon ohhappybear

เที่ยวภูทอก จังหวัดบึงกาฬ

 

(17 Oct 2017) เกิดความรู้สึกที่ว่า ชาตินี้ชั้นจะต้องไปยืน ณ จุดนั้นให้ได้ เมื่อได้เห็นทางเดินรอบภูเขาที่สุดยอดอเมซซิ่งของภูทอก ที่วัดเจติยาคีรีวิหาร ที่ตั้งอยู่อำเภอศรีวิลัย จังหวัดบึงกาฬ ภูเขาสูงท่ามกลางพื้นราบของจังหวัด ที่ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ (มรณภาพเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๓) สร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ปัจจุบันแม้หลวงปู่จะได้มรณภาพไปกว่า ๓๗ ปีแล้ว ภูทอกก็ยังได้รับการดูแลรักษาอย่างดี และเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงสงบจิตใจ เพราะขึ้นไปแล้วมีแต่ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและแรงศรัทธาของผู้สร้างและร่วมสร้าง ทำให้เราลืมปัญหาหยุมหยิมในใจของเราไปได้ และเห็นได้ชัดเจนอีกครั้งว่า ตัวเรานั้นเล็กมากเพียงนิดเดียวจริงๆ


ภูทอกเป็นภูเขาที่เป็นหินปูน การขึ้นภูทอกหมายถึงคุณจะต้องมาพักที่จังหวัดบึงกาฬก่อน แล้วออกจากตัวเมืองมาวัดเจติยาคีรีวิหารแต่เช้าตรู่ วัดนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๔๕ กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถประมาณหนึ่งชั่วโมง เราไปช่วงหน้าฝน แม้จะไม่ร้อนจัดเหมือนหน้าร้อน แต่อีสานก็คืออีสาน แดดที่นี่มีความโหดอย่างสม่ำเสมอ เราขอแนะนำให้มาถึงภูทอกเช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะปีนป่ายทุกมุมรวมถ่ายรูปและยืนพัก น่าจะใช้เวลาอย่างน้อยสองสามชั่วโมง

ภูทอกเป็นวัด ดังนั้นจึงเป็นการท่องเที่ยวที่เราจะต้องแต่งตัวให้สุภาพ กางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบและเสื้อยืดระบายอากาศดีๆ น่าจะดีที่สุด อีกอย่างคือที่นี่ยังเป็นสำนักวิปัสสนาของพระสงฆ์ จะมีป้ายห้ามการส่งเสียงดัง และห้ามทิ้งขยะอยู่มากมาย แต่เชื่อหรือไม่ เราคุยกันเพียงสองคนก็ดังแล้วในที่ๆ เงียบสงัดแบบนั้น แนะนำว่าขึ้นไปให้ตั้งสติ เพราะทางเดินก็ชันมาก มีความน่ากลัวที่จะร่วงตกลงมา และเมื่อได้เข้าไปในวัดที่สร้างด้วยแรงศรัทธามากขนาดนี้ ก็เป็นโอกาสดีที่ๆได้อยู่กับตัวเอง ตั้งสติในใจไม่ต้องพูดกับใครก็ดีเหมือนกัน

เมื่อเราขับรถเข้ามายังอำเภอศรีวิไล เราจะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ราบเป็นแผ่นกว้างๆ แต่ก็มีภูเขาสูงผุดขึ้นมาอยู่สองสามลูก ซึ่งในหมู่ภูเขาเหล่านั้นก็คือ ภูทอกน้อย และภูทอกใหญ่ ภูทอกที่เราได้ขึ้นไปว่ากันว่าเป็นภูทอกน้อยซึ่งเข้าได้จากตัววัด ในบริเวณวัดมีที่จอดรถ มีห้องน้ำสะอาด ทางเดินขึ้นภูทอกก็จะอยู่หลังวัดนี่เอง  ชั้น ๑-๔ นี้จะเป็นการไต่บันใดชันขึ้นไป พอถึงชั้นที่ ๕ และ ๖ จึงจะเป็นทางเดินวนรอบภูทอกตามที่เห็นในภาพต่างๆ ทางเดินส่วนใหญ่ทำด้วยไม้แผ่น วางกับคานที่เสียบเข้ากับลิ่มที่ตอกลงบนพื้นหินของภูเขา เอาง่ายๆ เลย ทางเดินนี่คือเป็นทางเดินเลียบเขา มองลงไปคือเห็นอากาศโล่งๆ ที่อยู่ระหว่างเรากับพื้นข้างล่างที่อยู่ห่างไกล ทางเดินบางช่วงมีความแคบมากๆ แต่แคบหรือไม่ คนที่กลัวความสูงขั้นรุนแรงแต่อยากจะมาอย่างดิฉัน ก็ใช้มือที่เหงื่อออกจนชุ่มพยายามจับโขดหินอย่างแน่นตลอดทาง และเมื่อได้มาแล้วก็ได้ความรู้สึกภูมิใจและเป็นสุขอย่างมากแบบผสมผสานกันตลอดการเดินเที่ยวแบบกล้าๆ กลัวๆ ในตอนนั้น

เนื่องจากเราไปเช้ามาก เลยได้เป็นเพียงมนุษย์สองคนที่เดินขึ้นไปในเวลานั้น ภูทอกทั้งภูเลยเป็นของเรา ได้สัมผัสความเงียบสงบและวิวที่สวยงามสุดๆ แบบปลีกวิเวกจริงจัง นอกจากเรา มนุษย์ที่เราเจออีกไม่กี่ท่านก็คือ คุณพี่คุณน้าคนงานที่ขึ้นมาดูแล และซ่อมแซมทางเดินเหล่านี้ ไม้บนทางเดินมีร้องเอี๊ยดอ๊าดเมื่อเราเดินลงไปบ้าง แต่ทั้งหมด (ตอนที่เราไปคือเดือนกันยายน ๒๕๖๐) คือไม้ใหม่ ไม่ผุ และแข็งแรงดี เดินวนรอบภูเขาแต่ละชั้น เราหยุดพักชมวิวตลอดทาง อย่างที่บอก เที่ยวคราวนี้ เป็นการเอาชนะความกลัวความสูงของตนเองและเป็นการเชื่อใจคนสร้างอย่างมาก บนชั้น ๕ ของภูทอกนี้ มีวิหารในเชิงผา มีประดิษฐานพระพุทธรูป และประวัติของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐไว้ในกรอบ

ท่านพระอาจารย์จวน เป็นชาวอุบลราชธานี อุปสมบทตั้งแต่อายุ ๒๑ ปี และเป็นพระสงฆ์ที่เน้นการภาวนา วิปัสสนา ต่อมาท่านได้ถวายตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ และเดินทางออกธุดงค์ไปตามเทือกเขา ตามดอย วิเวกในป่า แรกเริ่มไปภาคเหนือ และต่อมาก็แสวงหาที่วิเวกในภาคอีสาน โดยมักไปยังที่เปลี่ยว เช่น ถ้ำบนเขา เงื้อมผา ดอยสูง ป่าดงดิบห่างไกล และสถานที่สุดท้ายที่ท่านมาบำเพ็ญก็คือที่นี่ ภูทอก ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นต้นมา

การเริ่มก่อสร้างสะพานรอบภูทอกสุดอเมซซิ่งนี้ ก็เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ต่อมาภายหลังท่านมีนิมิตว่า มีพวกเทวดามาหา และบอกว่า “ขอน้อมถวายภูเขาลูกนี้ให้แก่พระผู้เป็นเจ้า โปรดรับไว้รักษา พวกข้าพเจ้าจะลงไปอยู่ข้างล่าง” และประกาศแก่มนุษย์ที่มาเที่ยวภูเขาลูกนี้ต่อไปว่า “ขออย่าได้กล่าวคำหยาบ อย่าส่งเสียงดังอึกทึก อย่าถ่มน้ำลายลงไปข้างล่าง และอย่าได้ขว้างหรือทิ้งเศษขยะไว้บนเขา”

ในฤดูแล้งของปี ๒๕๑๓ ท่านได้ชักชวนชาวบ้านสร้างทำนบกั้นน้ำ มีศรัทธาจากฝั่งประเทศลาวจึงได้สร้างพระประธานไว้ที่ถ้ำพระวิหารชั้น ๕ จากนั้นมีศรัทธาจากที่ต่างๆ มารวมกัน มีการสร้างศาลาที่ชั้น ๕ โรงฉันชั้นล่าง โดยเน้นให้ทุกอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ อาศัยผนังถ้ำเป็นฝาผนัง ต่อมาในปี ๒๕๑๙ ชื่อเสียงของภูทอกเริ่มเข้ากรุงเทพฯ มีแรงศรัทธามาจากเมืองหลวง ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ภูทอกจึงกลายเป็นสถานที่อเมซซิ่งเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ทั้งในและต่างประเทศจนมาถึงทุกวันนี้

นอกจากทางเดิน ภูทอกยังมีการทำระบบระบายน้ำ การสร้างหลังคาในส่วนทางเดินที่มีน้ำไหลลงมาจากยอดเขา มีการฝังท่อในภูเขาเพื่อให้เกิดทางระบายน้ำอย่างดี นี่คือแรงศรัทธาที่เพิ่มความอเมซซิ่งให้สถานที่นี้อย่างแท้จริง คุณน้าที่ขึ้นมาบำรุงรักษาทางเดินบอกกับเราว่า “ไปเดินเลย วิ่งได้เลย แล้วจะทึ่งว่าหลวงปู่ท่านสร้างไว้ได้อย่างไร”

วนชั้น ๕ ​เสร็จก็จะมีทางวนขึ้นไปชั้น ๖ ไหนๆ มาแล้ว เราจะต้องขึ้นไปจนสุด ภาพวิวทิวทัศน์บนชั้น ๖ อเมซซิ่งมากเหมือนเดิม นี่คือสุดยอดแห่งทุกอย่างทุกที่ที่เคยไปมาจริงๆ

จากชั้น ๖ มีบันไดปีนขึ้นไปชั้น ๗ ตรงนี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะดวงหรืออย่างไร เราสองคนไม่เห็นป้ายที่เขียนเตือนไว้ว่าชั้น ๗ “มีงูโปรดระวัง” (ซึ่งมารู้ตอนหลัง เพื่อนที่เคยไปก่อนหน้าบอกมา) เราก็ปีนขึ้นไปกันอย่างสนุกสนาน ชั้น ๗ ยังเป็นป่า ทางเดินยังเป็นดินราบที่เกิดจากการที่มีคนมาเดินก่อนหน้า บางช่วงของทางเดินเราต้องกลายร่างเป็นมนุษย์ four wheel เพราะทางชันมาก และชะง่อนหินบนนี้ ยังไม่มีรั้วกั้น มีความน่ากลัว มือเหงื่อออกหนักมาก ณ จุดนี้

เราเดินวนชั้น ๗ จนรอบ แล้วไต่ลงมา ๖ และ ๕ ตอนนั้นน่าจะประมาณ ๑๐ โมงกว่าๆ แต่แดดนี่คือเผาไหม้ คนอีสานที่เราเล่าให้ฟังจะหัวเราะ แล้วบอกกับเราประมาณปลอบใจว่า นี่แหละแดดอีสานของแท้ คือมันร้อนไหม้อย่างนี้ คำว่าเหงื่อออกคือน้อยไป เรียกว่าเหงื่อชุ่มไปทั้งตัวจะเหมาะกว่า มันชุ่มจนถึงชั้นในทุกชั้น เราไม่คิดเรื่องฝ้าขึ้นหน้าแล้วตอนนั้น เพราะเราได้มาที่นี่แล้ว และมีความสุขมากมายกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจนบอกไม่ถูก

ที่ชั้น ๕ เราถือโอกาสนั่งสำรวมพักผ่อน กราบองค์พระอย่างเงียบๆ และทำบุญด้วยความศรัทธาและตามฐานานุรูป เราเจอคุณพี่สองคน ส่งยิ้มให้กัน คุณพี่ผู้หญิงที่แต่งหน้าทำผมมาอย่างสวย ถามเราว่า ขึ้นไปทางไหน เราชี้ทางให้ พี่เค้าถามต่ออีกว่า “แล้วไม่มาด้วยกันหรือคะ” เราบอกว่า “ไม่ค่ะพวกเราเดินเสร็จแล้ว” พร้อมคิดในใจว่า “พี่คะ เดี๋ยวตาของพี่จะเลอะเป็นแพนด้าอย่างแน่นอน” 😀

หากใครคิดว่าขาขึ้นบันไดจะโหดมากแล้ว ก็อยากแนะนำว่าในขาลงก็อย่าประมาท บันไดชันมากทุกอัน และหากตกลงมาก็น่าเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้เลย เราสวนทางกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังไต่ขึ้นไป คิดในใจว่า ดีแล้วที่มาเช้า เพราะหากคนเยอะแยะเดินด้วยกันพร้อมกันในสะพานไม้แคบๆ ข้างบนหน้าผาแบบนั้น ชั้นคงฉี่ราดแน่ๆ

รายทางที่เราได้เดินไป มีดอกไม้ป่าสวยงามมากมาย แวะถ่ายมาเยอะมากๆ บางช่วงที่ภูเขากักเก็บความชื้น มีมอส มีตะไคร่ ขึ้นสวยมาก ไม่มีอะไรที่จะสวยไปกว่าธรรมชาติอีกแล้วในโลกนี้

บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ ๗๗ ของไทย แยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคายเมื่อปี ๒๕๕๔ เพราะหนองคายเป็นจังหวัดที่ใหญ่ ทำให้การปกครองในพื้นที่ห่างไกลทำได้ไม่ทั่วถึง ก็ปรากฏว่าบึงกาฬเป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวยงามมากมาย แต่ที่ยากสำหรับจังหวัดนี้น่าจะเป็นเรื่องที่พัก โรงแรมที่ดีที่สุดของจังหวัดคือ The One ซึ่งเต็มจองไม่ได้ในช่วงที่เราไป เลยได้ไปพัก BK Place ซึ่งไม่แนะนำเลยหากไม่จำเป็น พนักงานต้อนรับที่นี่เหมาะกับการไปทำอย่างอื่นที่ไม่ต้องได้คุยกับลูกค้า เราจองห้องราคาถูกสุดผ่านอโกด้าไป เค้าจะบอกว่าคุณจะได้ห้องชั้นล่างสุดที่ไม่มีวิว (วิวกำแพง) หากอยากเห็นเดือนเห็นตะวันจะต้องจ่ายเพิ่ม 100 บาทต่อคืน (ซึ่งเราจ่าย) มีเรียกเก็บค่ามัดจำกุญแจ 300 บาท ห้องน้ำเหม็นกลิ่นท่อ แต่ดีที่ว่าปิดประตูห้องน้ำแล้วพออยู่ได้ ดังนั้นการแปรงฟันจะต้องเป็นกิจกรรมนอกห้องน้ำ เราขอหมอนเพิ่มเพราะเป็นคนติดหมอนข้าง เค้าจะคิดค่าหมอนเพิ่มใบละ 100 บาท ตอนกลางวันซึ่งอากาศร้อนตับแลบ ล็อบบี้เค้าจะไม่เปิดแอร์ แต่จะเปิดกลางคืนแทน ซึ่งเป็นช่วงที่จะไม่เปิดก็น่าจะได้นะ (งงมาก) ส่วนอาหารเช้าวันแรกไม่ได้กินเพราะออกเช้ามากเพื่อไปภูทอก วันที่สองจะกินแต่ไม่ได้กินเพราะเค้ามีทัวร์ลง อาหารหมดทุกอย่าง (ลงไปกินตอน 7.30 น.) เราเลยรีบเช็คเอ้าท์แล้วเผ่นกลับมาหนองคาย ได้แวะกินข้าวแกงแบบสุ่มเอาเองตามยถากรรม แต่ก็เจอที่อร่อยและดีมากที่อำเภอโพนพิสัยเป็นอันว่าโชคดี

แต่บึงกาฬก็อุตส่าห์มีร้านอาหารดีงามนะ ร้านแหนมเนืองคุณอ้อ ในตัวเมืองเก่าเลย อาหารอร่อยดี สะอาดเลย ไม่แพง พนักงานน่ารักมากมาย ไปกินเสียหลายมื้อเพราะติดใจ ร้านนี้เป็นที่พึ่งได้ค่ะ และจะบอกว่าเค้ามีสาขาที่กรุงเทพฯ ด้วย อยู่ตรงโชคชัยสี่นี่เอง

อ่านเรื่องเที่ยวอุดรธานีได้ที่นี่



© OHHAPPYBEAR
Exit mobile version