ในงาน Bangkok Design Week 2023 ที่ผ่านมา มีการเล่าตำนานของคนและอาหารย่านบำรุงเมือง โดย อ. หนิง ดร. นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหาร ผู้สอนด้านอาหารที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่มาบรรยายให้เห็นภาพการเชื่อมโยงของอาหารกับคนในชุมชน ให้เห็นอัตลักษณ์ในสิ่งที่เค้ากิน “รสชาติ บำรุงเมือง” ตอน ผัดหมี่โคราช VS ผัดไทย สามารถย้อนกลับไปอ่านเรื่องตอนแรกได้ที่นี่ค่ะ
มะกรูดทั้งลูกถูกเผา ขูดผิว แล้วใส่ลงไปเพิ่มความหอมในน้ำซุปต้มเนื้อ พร้อมกับข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ทำให้ต้มเนื้อร้าน “หม่องราชบพิธ” ส่งกลิ่นหอมยั่วยวนไปไกลมาก แถมรสชาติใสๆ ของต้มเนื้อที่นี่ยังไม่เหมือนใคร ร้านนี้ไม่มียาจีน ไม่มีเครื่องเทศ เฮียหม่อง เจ้าของร้านเล่าว่า “ทำตามพ่อ ทำแบบไทย” แต่ชาวไทยอีสานพอเห็นต้มเนื้อแบบนี้ ก็ต้องรู้สึกคุ้นเคย เพราะต้มเนื้ออีสาน หรือต้มแซ่บก็เป็นต้มที่ใส่สมุนไพรชุดเดียวกันนี้ แถมการกินวัวทั้งตัว แบบ nose to tail ก็เป็นสไตล์การกินแบบโลคอลอีสานแท้ๆ ด้วยเหมือนกัน
ไม่ไกลจากร้านหม่องคือ “ตลาดตรอกหม้อ” ตลาดยอดฮิตขนาดเล็กในซอยเทศา ที่ทั้งคนในชุมชนและระแวก รวมถึงลูกค้าประจำ บรรดาข้าราชการย่านนั้น จะต้องมาเดินเที่ยวชมเป็นประจำทุกๆ เช้า ที่นี่แน่นขนัดไปด้วยของสด โดยเฉพาะเนื้อปลาต่างๆ และอาหารทะเล แต่สิ่งที่เผยให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของชุมชนนี้ก็คือ “แผงผักที่ขายผัก วัตถุดิบ และเครื่องปรุงของอาหารอีสาน ที่คนอีสานแท้ๆ เค้ากินกันก็มีอยู่ตรงนี้” อ. หนิงเล่า “ย่านนี้เป็นย่านการค้า ถนนตีทอง ซอยวิสูตร เหล่านี้ทำเครื่องประดับ เครื่องเพชรเครื่องทอง คนอีสานเข้าเมืองตามญาติพี่น้องมาเป็นช่างฝีมือย่านนี้มาหลายรุ่น ชุมชนนี้มีคนมาจากร้อยเอ็ด โคราช มหาสารคาม เยอะมาก”
ไทย-จีน-อีสาน แยกกันไม่ค่อยออก ไม่ไกลนักจากร้านหม่องมีประตูบานเฟี้ยมไม้ปิดอยู่ ด้านบนมีป้ายเก่าของ “โรงเรียนสุจริตวิทยา” อ. หนิงบอกว่า “ร้านนี้ทำน้ำซุปได้ใส เหมือนตาตั๊กแตน” ร้านก๋วยเตี๋ยวโรงเรียนสุจริตวิทยา เปิดเฉพาะวันธรรมดา ลูกค้าเป็นคนย่านนี้ หรือไม่ก็มาทำงานย่านนี้ ไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่มาได้เฉพาะเสาร์อาทิตย์ เค้าทำก๋วยเตี๋ยวแคะ ก๋วยเตี๋ยวหมู รสชาติเชงๆ นวลๆ โต๊ะตั้งติดฝาไม้ระแนงเก่า มาแล้วเหมือนย้อนยุค ส่วนตัวชอบมาก น่ารัก และหาดูได้ยากแล้วในยุคนี้
ร้านก๋วยเตี๋ยวโรงเรียนสุจริตวิทยา และก๋วยจั๊บน้ำใสใส่แต่ลูกชิ้นแคะ
ความไทย-จีน-อีสาน ของย่านนี้ ยังมาในรูปแบบของขนมหวานเจ้าที่ดังเงียบๆ ในหมู่คนโลคอลบนถนนแพร่งนรา นี่คืออีกร้านที่นักท่องเที่ยววันหยุดจะไม่มีวันได้เห็น เพราะ “ร้านขนมหวานก๋งแดง” เปิดเฉพาะวันธรรมดาอีก คุณตาคนทำคือลูกหลานจีนอพยพ ได้ขนมแบบจีนมาเช่น เต้าส่วน ถั่วเขียวต้มน้ำตาล หรือมันต้มขิง คุณตาแต่งงานกับสาวไทย เลยขยับขยายขนมให้มีขนมไทย ทุกวันนี้ลูกหลานมาช่วยกันทำและขาย แต่ทุกอย่างก็ยังถูกดูแลโดยคุณตาคุณยายสองท่านนี้ รวมถึงเตาถ่านคู่ใจก็ยังถูกใช้อยู่ที่หน้าบ้าน
ขนมก๋งแดงมีมากมายตาลาย มีกล้วยบวชชีสองสี ที่ใช้ทั้งกล้วยไข่และกล้วยน้ำว้าผสมกันเป็นเอกลักษณ์ ที่น่าจะมีให้กินแบบนี้ที่นี่ที่เดียว ข้าวเหนียวเปียกลำใย บัวลอยแก้ว (ธัญพืชเปียก) ถั่วดำน้ำกะทิ และที่ขาดไม่ได้ ก็คือขนมต้นตระกูลสามอย่างที่กล่าวไปแล้ว เต้าส่วน ถั่วเขียวต้มน้ำตาล มันต้มขิง มีขายตลอด ร้านนี้จึงเป็นร้านขนมไทยปนจีน ที่ลูกค้ามาซื้อประจำมาซื้อกันแน่น ร้านเปิด 9 โมง แต่ของหมดไวค่ะ
ไปเที่ยวเมืองเก่าวันหยุดช่วงสาย บรรยากาศไม่เหมือนอย่างนี้ เช้าวันธรรมดาเทำให้ได้เห็นบรรยากาศแท้ๆ ของคนชุมชนเค้า เช้าวันพฤหัสที่ร้านหม่องไม่มีบล็อกเกอร์ ไม่มีใครถ่ายรูปอาหาร (ยกเว้น yours truly คนนี้ 🙂 มีแต่ผู้ชายตัวโตๆ มารีบแวะมากินเกาเหลากับข้าวให้อิ่มท้อง เฮียหม่องขายเกาเหลาปรกติชามละ 50 แต่หากอยากได้พิเศษ ก็สั่งได้ตามชอบ พี่คนนึงเข้ามาก็สั่งทันทีว่า “ทุกอย่าง 300” เฮียหม่องก็มีชามโตเบ้อเร่อพร้อมไว้เสิร์ฟให้
แต่ที่ต้องสั่งเพิ่มเพราะไม่ได้ให้เสิร์ฟให้เป็นอัตโนมัติ ก็คือมะกรูดกับกระเทียมที่อยู่ในน้ำซุป วันที่ไปกระเทียมหมด ได้กินแต่มะกรูด กินเกาเหลาสไตล์ย่านนี้ก็คือ ตักพริกน้ำส้มบนโต๊ะลงไปในถ้วยแยก ผสมกับพริกป่น เอามะกรูดที่เค้าให้มาคลุกลงไป คีบเครื่องจิ้มนั้นกินกับเนื้อ ตามด้วยข้าว ตามด้วยซุป
- หม่องต้มเนื้อราชบพิธ เปิดทุกวัน (เว้นอาทิตย์) 8:00 – 10:00 หากมาไกลสามารถโทรไปจองสิ่งที่ต้องการกินก่อนได้ค่ะ โทร 0818351170
- ร้านก๋วยเตี๋ยวโรงเรียนสุจริตวิทยา เปิดจันทร์ – ศุกร์ เช้าๆ ถึงบ่ายค่ะ
- ขนมหวานก๋งแดง (ลุงแดง) เปิดจันทร์ – ศุกร์ เช้าๆ เลยค่ะ โทร 026220404
- ขอขอบคุณข้อมูลจาก Urban Ally
- และ อ. หนิง ดร. นิพัทธ์ชนกนาจพินิจผู้ที่เล่าเรื่องสนุกมากชอบมากๆขอบพระคุณค่ะ
© OHHAPPYBEAR