Site icon ohhappybear

“อาคารนิทรรศการเครื่องทอง” การย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา

 


ขอเกาะกระแสน้องลิซ่า เล่าเรื่องความอลังการเครื่องทองของอยุธยาสักนิด 😀

ปลายปีก่อน มีข่าวดีมากเกิดขึ้นที่อยุธยา เพราะมีการเปิดตัว “อาคารนิทรรศการเครื่องทอง” อาคารสวยทันสมัยหลังใหม่ เน้นแสดงเฉพาะเครื่องทองของอยุธยา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

และในโอกาสเดียวกัน ทางพิพิธภัณฑ์จึงถือโอกาสปรับปรุงอาคารหลังเดิมด้านหน้า ที่ไม่เคยปรับปรุงเลย ตั้งแต่เปิดทำการขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 นี่คือการปรับปรุงครั้งแรกจัดเต็ม ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีอายุกว่า 60 ปี แห่งนี้

อาคารหลังเดิมแรกเริ่มของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่ปัจจุบันกำลังปรับปรุงครั้งใหญ่หลังจากมีการเปิดอาคารนิทรรศการเครื่องทอง ขึ้นเมื่อปลายปี 2565

และการเปิดตัวของ “อาคารนิทรรศการเครื่องทอง” ครั้งนั้น ก็ยังถือเป็นการย้อนกลับมาสู้จุดเริ่มต้น (full circle) ของการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาแห่งด้วยเช่นกัน หากทุกคนเข้าใจถึงเหตุผลและความพิเศษสุดๆ ว่าทำไมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เจ้าสามพระยา จึงมีการก่อตั้งขึ้น

กรุวัดมหาธาตุ

“วัดมหาธาตุ” ที่น้องลิซ่าไปถ่ายรูป ถือเป็นแกนหลักของเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เราจึงเห็นว่าตามเมืองใหญ่ๆหลายแห่ง จะมีวัดมหาธาตุประจำเมือง เช่น นครศรีธรรมราช เพชรบุรี นครพนม กรุงเทพฯ และอีกมากมาย

วัดมหาธาตุที่พระนครศรีอยุธยามีอายุเก่าแก่มากกว่า 600 ปี มีการผุพังและบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ก็หลายครั้ง เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดมหาธาตุถูกไฟไหม้เสียหายเป็นอันมากและถูกทิ้งร้างเรื่อยมา จนเมื่อพ.ศ. 2447 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 องค์ปรางค์ประธานได้พังทลายลงมาอีกครั้งหนึ่ง

ความสวยงามร่มรื่นภายในวัดมหาธาตุ วัดที่ถือเป็นแกนหลักของเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

เดือนกรกฏาคม ปีพ.ศ. 2499 หรือเมื่อประมาณ 67 ปีก่อน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีมติให้กรมศิลปากรทำการบูรณะวัดมหาธาตุ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มบูรณะ ก็ได้พบช่องระบายอากาศภายในองค์ปรางค์ จึงทำให้เชื่อว่ามีกรุอยู่ด้านล่าง จึงทำการรื้อฐานเจดีย์ขนาดเล็กที่อยู่ตรงกลางพื้นออก พบปลาหินเขียนลายทอง ภายในบรรจุเครื่องทองอยู่เต็ม จากนั้นจึงทำการขุดแนวดิ่งลงไปเรื่อยๆ จึงพบผอบหินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีการเปิดผอบพระบรมสารีริกธาตุในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2499 วัดมหาธาตุที่อยุธยา จึงเป็นโบราณสถานแห่งแรกที่มีการขุดพบกรุที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องทองอื่นๆ

เศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์ ภายในบริเวณวัดมหาธาตุ จุดเด่นสำคัญที่ทำให้วัดนี้โด่งดังไปทั่วโลก เศียรพระพุทธรูปนี้ เป็นเศียรพระพุทธรูปได้รับการถ่ายภาพมากที่สุด ปัจจุบันมีการกั้นอาณาเขตไว้ให้ถ่ายภาพอย่างเป็นระเบียบและไม่รุกล้ำบริเวณต้นโพธิ์

แต่การค้นพบครั้งนั้น ก็ก่อให้เกิดกระแสตื่นทองขึ้นอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเกิดการลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะขึ้นอีกเพียงหนึ่งปีถัดมา (พ.ศ. 2500)

ขุมทองใต้พระปรางค์วัดราชบูรณะ

ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 กลุ่มคนร้ายประมาณ 20-30 คน ลักลอบขุดกรุใต้พระปรางค์วัดราชบูรณะ ได้ของมีค่าจำพวกเครื่องทองเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่สามารถจับคนร้ายได้เพียง 2 คน แต่ก็ได้มีการลงสำรวจกรุพร้อมสำรวจสิ่งที่คนร้ายเหลือทิ้งไว้ พบเครื่องทองภายหลังอีก 2,121 ชิ้น น้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม นับว่าเป็นกรุที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยเครื่องทองที่หลงเหลือจากการโจรกรรมมีทั้งพระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องต้นและถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องราชบรรณาการ เครื่องอุทิศและจารึก บรรดาเครื่องทองเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศแห่งองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งทรัพย์สมบัติของขุนนางคหบดีและประชาชนทั่วไปที่ร่วมกันถวายเป็นพุทธบูชา

วัดราชบูรณะ ที่อยู่ไม่ไกลนักจากวัดมหาธาตุ ผู้สร้างวัดแห่งนี้คือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา รัชกาลที่ 7 ของอาณาจักรอยุธยา และภายใต้พระปรางค์องค์นั้นคือสถานที่ๆ โจรขุดพบทองที่ปัจจุบันถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเครื่องทองที่ได้จากกรุวัดราชบูรณะ และมีพระราชดำรัสว่าสมควรสร้างพิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บรักษาของมีค่าเหล่านี้ไว้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในปีต่อมามีการดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์จึงเกิดขึ้น และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2504 โดยชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เจ้าสามพระยา ถูกตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา รัชกาลที่ 7 ของอาณาจักรอยุธยา) ผู้ทรงสถาปนาวัดราชบูรณะ โดยใช้เงินจากการบริจาคของประชาชน โดยผู้บริจาคผู้บริจาคได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณ

กรกรุมหาสมบัติ ภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บเครื่องทองทั้งหลาย 

ก่อนหน้าที่จะมี “อาคารนิทรรศการเครื่องทอง” เครื่องทองเหล่านี้เคยถูกจัดแสดงในห้องทึบกรุประตูเหล็กปิดแน่นหนาราวกับตู้นิรภัยยักษ์ภายในอาคารหลังเดิมของพิพิธภัณฑ์ ชิ้นงานหลายชิ้นยังได้ถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งอื่นอีกหลายแห่ง โดยต่อมาเมื่อมีการจัดทำเตรียมการจัดแสดงเครื่องทองในสถานที่แห่งใหม่ จึงมีการรวบรวมเครื่องทองทั้งหมดที่ขุดได้จากสองวัดดังกล่าวมารวมไว้เพื่อจัดแสดง ณ สถานที่แห่งนี้ที่เดียว

หนึ่งในไฮไลต์ของการจัดแสดงเครื่องทอง ก็คือ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงศาสตราวุธประจำองค์พระมหากษัตริย์ หนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระขรรค์หมายถึง พระสติปัญญาความรอบรู้ในการปกครองบ้านเมือง 

ปลาหินเขียนลายทองที่ขุดพบในกรุภายในพระปรางค์ของวัดมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 2499

อ. ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาชาวไทย ได้เขียนบทความเรื่อง “ความสำคัญของกรุงศรีอยุธยา” ไว้ในสยามเทศะเมื่อปีพ.ศ. 2537 ว่า กรุงศรีอยุธยาไม่ได้เป็นเพียงราชธานีเก่าของไทยเท่านั้น แต่คือมรดกทางอารยธรรมที่สำคัญมากของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณาจักรอยุธยามีความงดงามด้านผังเมืองที่มีลักษณะเป็นเกาะเมืองมีน้ำล้อมรอบ มีความงดงามของพระนครที่เต็มไปด้วยสีสัน สะท้อนถึงอารยธรรมและความสามารถของมนุษย์ในยุคนั้น ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยม

การจัดแสดงมี 3 ส่วนคือ เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ แบ่งเป็น “ทางโลก” (เครื่องทองของกษัตริย์หรือเกี่ยวข้องกับกษัตริย์) และ “ทางธรรม” เครื่องพุทธบูชา และ เครื่องทองที่พบในกรุวัดมหาธาตุ รวมทั้งคติการประดิษฐานและบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

และนี่คือสาเหตุว่าทำไม เที่ยวอยุธยาหลายครั้งก็ยังไม่ครบเสียที นี่ขนาดอยู่ใกล้กรุง ไปง่าย ไปตั้งแต่เด็กก็ยังไม่เบื่อ ไว้มีโอกาสหน้าจะหาเรื่องมาเล่าอีก คราวนี้ขอฝากเรื่องเครื่องทองอันล้ำค่ากว่า 2 พันชิ้น เผื่อคนที่ชอบอะไรแบบนี้เหมือนกันจะได้หาโอกาสไปชมค่ะ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา เปิด อังคาร – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00 – 16.00 T: (035) 241 587 

อ้างอิง


© OHHAPPYBEAR


 

Exit mobile version